บทความอัพเดทล่าสุดเมื่อ September 21, 2023

เข้าเดือนหน้าร้อนทีไรหลายคนคงจะเตรียมใจรับอากาศร้อนที่ทะลุถึง 40 องศา ชนิดที่ว่าร้อนปรอทแตกกันไปเลย บางคนถึงกับต้องติดเครื่องปรับอากาศใหม่ยกบ้าน เพื่อที่จะได้ช่วยบรรเทาความร้อน แต่ทว่าถ้าเราสามารถออกแบบบ้านและสร้างบ้านเดี่ยว ที่กันความร้อนเข้าถึงธรรมชาติมากขึ้นคงจะดีไม่น้อย วันนี้เราจึงมีไอเดียสร้างบ้านอย่างไรให้คลายร้อน, วิธีสร้างบ้านไม้ให้เย็นและวิธีแต่งบ้านเบื้องต้นให้บ้านทีอุณหภูมิลดลงมาบอกต่อกัน

ลดความร้อนที่มาจากภายนอกอาคาร

ลดความร้อนที่มาจากภายนอกอาคาร

ความร้อนส่วนใหญ่แล้วจะมาจากแสงแดด การป้องกันหรือกรองแสงแดดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุด จะเป็นบ้านที่สร้างเก่าอยู่แล้ว หรือจะเป็นบ้านที่สร้างใหม่ก็ได้เพียงแค่คุณ “ปลูกต้นไม้ยืนต้น”ก็จะช่วยให้บ้านเย็นสบายมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้การเลือกตำแหน่งที่จะปลูกก็คือเน้นตรงจุดที่แสงแดดส่องถึง นอกจากการปลูกต้นไม้ยืนต้นแล้วปลูกไม้คลุมดิน เช่น หญ้า ไม้ลักษณะกอ จะช่วยลดอุณหภูมิจากพื้นดินได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าหากว่าบ้านของคุณไม่มีพื้นที่พอที่จะปลูกต้นไม้ได้ก็มีอีกวิธีที่จะช่วยได้คือการต่อเติมระแนง เพราะไม้ระแนงจะช่วยกรองแสงได้ในระดับหนึ่ง

การลดพื้นที่คอนกรีตให้เหลือน้อยที่สุดก็เป็นหนึ่งวิธี เพราะเนื่องจากคอนกรีตเป็นแหล่งสะสมพลังงานความร้อน จะเห็นได้ว่าบ้านในอดีตมีแต่พื้นดิน ความร้อนจึงไม่มากเท่ากับบ้านที่ปลูกในยุคสมัยนี้โดยเฉพาะบ้านที่อยู่ในตัวเมือง แต่ถ้าหากว่าไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเทพื้นคอนกรีตได้ ก็ให้หาไม้กระถางมาวางไว้แทน

การออกแบบโครงสร้างบ้าน

การออกแบบโครงสร้างบ้าน

ก่อนที่เราจะมีการวางผังบ้านต้องทำความเข้าใจในธรรมชาติรอบๆบ้านเสียก่อนเพื่อที่จะได้นำประโยชน์จากธรรมชาติมาใช้ให้สอดคล้องกับปัจจัยในการก่อสร้างบ้านให้ได้มากที่สุด โดยทางบริษัทรับเหมาก่อสร้างบ้านที่ชำนาญจะแนะนำเจ้าของบ้านได้ว่าควรใช้ธรรมชาติส่วนไหนมาช่วยให้บ้านเย็นได้บ้าง เช่น

  • ไม่ควรหันหน้าบ้านขวางดวงอาทิตย์ เช่น กรณีที่ผังบ้านเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ควรหันให้ด้านยาวไปแนวทิศเหนือและใต้ เพื่อที่บ้านจะได้รับความร้อนจากแสงอาทิตย์น้อยที่สุด และได้ลมผ่านมากที่สุด แต่ถ้าหากผังบ้านไม่สามารถที่จะหันได้ทิศทางตามนี้ได้ ให้นำเทคนิคนี้ไปเลือกวางตำแหน่งภายในห้องแทน เช่น ห้องนอน เป็นห้องที่เราใช้พักผ่อนนอนหลับจึงควรจัดให้ห้องนอนอยู่ทางทิศเหนือ, ทิศตะวันออก เพื่อที่ห้องนอนจะได้เย็นสบายที่สุดในบ้าน แต่ถ้าเราคิดว่าเราใช้เวลาอยู่ในห้องไหนมากที่สุดก็ให้ออกแบบให้ห้องนั้นหันไปทางทิศเหล่านี้
  • กำหนดทิศทางลม เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญที่จะช่วยในการถ่ายเทความร้อนภายในบ้าน พร้อมทั้งเปิดรับอากาศใหม่ๆจากภายนอกเข้ามา บ้านลักษณะที่ดีจึงต้องออกแบบให้โปร่ง มีช่องรับลม ไม่ควรมีมุมใดปิดกั้นลม ซึ่งทิศทางลมจะมีความผันแปรตามสภาพอากาศของแต่ละฤดูกาล เช่น เดือนกุมภาพันธ์ – ตุลาคม กระแสลมจะพัดมาจากทางทิศใต้ และช่วงเดือนตุลาคม-มกราคม กระแสลมจะพัดมาทางทิศเหนือ ซึ่งจะสอดคล้องกับการที่เราหันบ้านไปทางทิศเหนือหรือใต้ได้อย่างพอดี

การเลือกใช้วัสดุในการก่อสร้างบ้าน

การเลือกใช้วัสดุในการก่อสร้างบ้าน

ด้วยปัจจุบันนี้วิวัฒนาการหรือเทคโนโลยีต่างๆสามารถผลิตวัสดุก่อสร้างให้นำมาประยุกต์ใช้รองรับกับปัญหาอากาศที่จะทวีความร้อนมากขึ้นในทุกปี ซึ่งหลายบริษัทต่างก็พากันออกแบบวัสดุต่างๆที่สามารถช่วยป้องกันความร้อนไม่ให้กระทบเข้าตัวบ้านได้ เช่น แผ่นฉนวนกันความร้อน, ผนังกันความร้อน, การต่อเติมระแนง, ฟิลม์ติดกระจก เป็นต้น  ซึ่งวัสดุดังกล่าวจะมีคุณสมบัติพิเศษที่จะช่วยป้องกัน และสะท้อนความร้อนออกจากตัวบ้านได้

  • หลังคาบ้าน เป็นส่วนที่ต้องเจอกับความร้อนจากแสงอาทิตย์มากที่สุด การเลือกซื้อหลังคาที่ให้คุณสมบัติสะท้อนรังสีความร้อนและไม่เก็บความร้อน จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านได้ หรือจะออกแบบหลังคาบ้านให้มีลักษณะสูงโปร่งก็ช่วยลดอัตราการเก็บสะสมความร้อนได้เช่นกัน
  • แผ่นฉนวนสะท้อนความร้อน จะเป็นแผ่นที่ติดอยู่ใต้แผ่นกระเบื้องหลังคามีคุณสมบัติช่วยสะท้อนความร้อนที่พัดผ่านหลังคาเข้ามา สะท้อนออกสู่ภายนอก ไม่เข้ามาสะสมอยู่พื้นที่ใต้หลังคา การติดตั้งจะติดพร้อมกับหลังคา ฉะนั้นจึงเหมาะกับบ้านที่สร้างใหม่
  • แผ่นฉนวนกันความร้อน จะช่วยป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้าน แต่ในความเป็นจริงแผ่นฉนวนนี้ก็ไม่สามารถที่จะกันความร้อนได้ทั้งหมด แค่ช่วยบรรเทาความร้อนให้เบาบางลงเท่านั้นเอง ซึ่งทำหน้าที่ในการเป็นเกราะป้องกันความร้อนเข้ามาสู่ฝ้าเพดานบ้าน โดยที่แผ่นฉนวนนี้สามารถที่จะติดตั้งบนฝ้าเพดานจึงทำให้สามารถใช้ได้ทั้งบ้านเก่า และบ้านปลูกใหม่

หลายท่านอาจมีข้อสงสัยตามมาว่าควรเลือกแบบไหนดีระหว่างฉนวนสะท้อนความร้อนกับฉนวนกันความร้อน ที่และช่วยบรรเทาความร้อนให้กับบ้านได้จริงๆ ถ้าเป็นบ้านจัดสรรโครงการ บ้านสร้างก่อนขาย ทางโครงการก็จะพยายามชูจุดขายที่ว่ามีการติดตั้งฉนวนทั้งสองแบบให้ ในความเป็นจริงแล้วเพื่อเป็นการประหยัดต้นทุน โครงการเหล่านี้จะติดตั้งเพียงอย่างใดอย่างหนี่งเท่านั้นซึ่งทำให้ไม่ได้รับประสิทธิภาพเต็มที่ก็ต้องทำใจรับสภาพและหาทางแก้ไขเองภายหลัง แต่กรณีที่เป็นบ้านสร้างเพื่ออยู่อาศัยเอง ขอแนะนำว่าควรติดตั้งสองชนิด ซึ่งจะช่วยป้องกันได้ผลดีกว่าและคุ้มค่าต่อการลงทุนยิ่งถ้าบ้านไม่ร้อนเราก็ไม่จำเป็นที่ต้องติดเครื่องปรับอากาศทั้งหลังก็ได้ ผลพลอยได้ก็คือสามารถประหยัดค่าไฟไปในตัวอีกต่างหาก ในส่วนล่างของบทความมาดูเทคนิคสร้างบ้านไม้ให้ไม่ร้อนและเทคนิคการแต่งบ้านให้เย็นกัน


เทคนิคการสร้างบ้านไม้ให้เย็น

ข้อมูลด้านบนส่วนใหญ่จะนำไปใช้กับบ้านสมัยใหม่ บ้านปูน ข้อมูลต่อไปนี้จะแนะนำเกี่ยวกับการสร้างบ้านไม้ให้ไม่ร้อน เผื่อใครอยากปลูกบ้านไม้จะได้นำไปทำตามกันดู

1. การเลือกพื้นไม้

การใช้พื้นบ้านที่เป็นไม้มักจะมีรอยต่อจำนวนมาก แต่เราสามารถตีปิดฝ้าเพดานยิปซั่มหรือซีเมนต์บอร์ดใต้ตงไม้แทนได้เพื่อเสริมไม้โครงและลดเสียงกระทบจากพื้นในช่วงที่มีคนเดิน

2. การเลือกผนังไม้

การตีซ้อนแผ่นผนังของบ้านไม้ทำให้ลมร้อนซึมเข้าสู่ภายในได้ง่าย วิธีแก้คือการทำผนังซ้อนด้านในบ้านอีกชั้นและเสริมฉนวนกันความร้อน แต่เจ้าของบ้านควรระวังการเพิ่มภาระน้ำหนักให้กับโครงสร้างไม้ โดยการยึดแผ่นผนังผืนใหม่กับโครงคร่าวเดิมหรือเสริมไม้โคร่งคราวที่จำเป็นด้วยวัสดุทดแทนไม้ เช่น ไม้เทียม ไม้ไวนิล

3. การเลือกหน้าต่าง

เมื่อหน้าต่างหันไปรับแดดทางทิศตะวันตก ควรปิดใช้งานและซ้อนผนังทึบที่ด้านในหรือลดขนาดบานหน้าต่าง แต่ถ้าหน้าต่างรับแสงจากทิศเหนือ ควรใช้บานกระจกและกรอบวงกบ UPVC เพื่อป้องกันการรั่วซึมของอากาศ หรือปรับปรุงบานไม้เดิมด้วยการปรับขอบบานเป็นขอบบานแบบบังใบและเสริมเส้นยางตลอดแนววงกบเพื่อช่วยระบายความร้อนได้เช่นกัน

4. การเลือกฝ้าเพดาน

การป้องกันความร้อนจากหลังคาเป็นสิ่งสำคัญในบ้านไม้เก่า โดยควรเลือกฝ้าเพดานยิปซั่มหรือซีเมนต์บอร์ดแบบฉาบเรียบ และติดตั้งตัวฉนวนกันความร้อนเหนือแผ่นฝ้าเพดาน หากต้องการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ควรตรวจสอบตำแหน่งการติดตั้งและใช้มิเตอร์ไฟฟ้าขนาด 15 (45) แอมแปร์ สำหรับบ้านพักอาศัยขนาดเล็ก


วิธีแต่งบ้านที่จะช่วยให้บ้านเย็นขึ้น

ก่อนจากขอฝากเทคนิคการแต่งบ้านให้บ้านเย็นเล็กๆน้อย 3 วิธีนำไปปรับใช้กันดูเผื่อให้บ้านของคุณเย็นได้มากกว่าเดิม

1. ติดฟิล์มกรองแสง

การติดฟิล์มกรองแสงไว้ที่บ้านสามารถป้องกันความร้อนจากแสงแดดบริเวณกระจกได้ดี ฟิล์มที่นิยมมี ฟิล์มใส, ฟิล์มปรอท, ฟิล์มดำ หรือฟิล์มนิรภัย สามารถติดครั้งเดียวแล้วใช้ได้ยาวนาน และสามารถติดที่บริเวณที่โดนแสงแดดตลอดได้ตามความเหมาะสม

2. ติดม่านกันยูวี

ผ้าม่านกันรังสียูวีทำมาจากเส้นใยโพลิเอสเตอร์ที่คงสภาพได้ดีและทนความร้อน สามารถกันรังสียูวีได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยเคลือบด้วยสารป้องกันแสงแดดและรังสียูวี ช่วยให้บ้านเย็นขึ้นและปลอดภัยจากการถูกทำลายจากแสงแดด แต่ต้องระวังการเลือกใช้วัสดุผ้าม่านให้เหมาะสมกับบ้านและสภาพแวดล้อม

3. ปลูกต้นไม้รักษาความเย็น

การปลูกต้นไม้ช่วยแต่งบ้านให้เย็นวิธีธรรมชาติที่ช่วยเย็นบ้าน ปรับทัศนียภาพให้สวยงาม และเพิ่มอากาศบริสุทธิ์ ได้แก่การใช้ร่มเงาของต้นไม้ และการปรับปรุงการระบายอากาศในบ้าน


สำหรับใครที่ต้องการบ้านที่ร่มเย็นอยู่แล้วไม่ร้อน เทคนิคด้านบนทั้งหมดจะช่วยคุณได้ไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอนถ้านำไปปรับใช้กัน

เขียนโดย Con Mueangsak

โฟร์แมนเป็นงานประจำ เขียนบทความเกี่ยวกับช่างและงานก่อสร้างเป็นงานเสริม รักการก่อสร้างเป็นชีวิตจิตใจ สนใจติดต่องานก่อสร้างติดต่อในอีเมลได้เลยครับ ผู้เขียนเว็บไซต์ Constructacon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save