บทความอัพเดทล่าสุดเมื่อ June 28, 2023

วงกบประตู บางกว่าผนัง ทำยังไงดี? ตามมาดูวิธีแก้และติดตั้งอย่างไรให้ลงตัว

วงกบประตู การติดตั้งนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เชื่อว่าปัญหาคาใจของคนที่สร้างบ้านต้องประสบพบเจอก็คือ กรณีผนังที่หนากว่าขนาดวงกบ ซึ่งเจ้าของบ้านส่วนมากมักเกิดความไม่แน่ใจว่าจะติดตั้งอย่างไรระหว่างชิดด้านนอก หรือชิดใน แต่ไม่ว่าวิธีไหนก็ไม่มีถูกผิด ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในการใช้งานของแต่ละบ้าน วันนี้เราเลยมีข้อมูลเกี่ยวกับ วิธีแก้และติดตั้งวงกบประตูบางกว่าผนัง และติดตั้งอย่างไรให้ลงตัว รวมไปถึงเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการเลือกบานประตูอย่าง 6 วัสดุบานประตูยอดนิยมสำหรับใช้ในบ้าน และขั้นตอนการเปลี่ยนบานประตูใหม่

โดยปกติแล้ววงกบของประตู-หน้าต่าง จะมีความหนาอยู่ที่ประมาณ 10 ซม. ซึ่งจะเท่ากับความหนาของผนังก่ออิฐฉาบปูนครึ่งแผ่น (หรือที่เรียกกันว่าผนังก่ออิฐชั้นเดียว) พอดี อย่างไรก็ตาม การก่อผนังก็สามารถทำให้มีความหนามากกว่า 10 ซม.ได้ด้วยเช่นกัน อาทิเช่น ผนังก่ออิฐฉาบปูนเต็มแผ่นที่มีความหนาถึง 20 ซม. หรือผนังที่ก่อขึ้นเพื่อให้พอดีกับความกว้างของเสา ซึ่งอาจจะมีความหนาได้ถึง 30 ซม. โดยที่ผนังเหล่านี้จะมีความหนามากกว่าวงกบประตู-หน้าต่าง ส่งผลให้เกิดปัญหาว่าจะติดตั้งวงกบชิดด้านในหรือด้านนอกบ้านดี ในความเป็นจริงแล้วตำแหน่งของการติดตั้งประตู-หน้าต่าง มีทางเลือทั้งหมดอยู่ 3 ทาง คือ ติดตั้งชิดนอก ติดตั้งชิดใน และติดตั้งตรงกึ่งกลางผนัง ซึ่งการเลือกติดตั้งแต่ละตำแหน่งมีข้อดี-ข้อเสีย ดังต่อไปนี้


การติดตั้งประตู-หน้าต่างชิดด้านนอก

วงกบประตู

กรณีที่เป็นประตู-หน้าต่างบานเปิดจะทำให้สามารถเปิดบานได้กว้างมากถึง 180 องศา ซึ่งตามปกติแล้วประตู-หน้าต่างเวลาที่จะเปิดออกมักจะเป็นลักษณะการผลักไปสู่ภายนอกบ้าน แต่หากว่าเป็นการติดตั้งชิดด้านใน เมื่อเปิดบานประตู-หน้าต่างจะติดบริเวณขอบผนังที่ 90 องศา ข้อดีของการติดตั้งประตู-หน้าต่างแบบชิดนอกจะช่วยให้ไม่มีฝุ่นสะสม หรือมีนกมาเกาะแล้วอาจขับถ่ายลงเลอะเทอะตรงส่วนขอบผนังภายนอกบ้าน ซึ่งเป็นจุดที่ค่อนข้างยากในการเข้าไปทำความสะอาด นอกจากนั้นแล้วยังมีพื้นที่ขอบผนังเหลือภายในบ้านให้สามารถติดตั้งเหล็กดัดเพิ่มเติม รวมทั้งยังติดตั้งผ้าม่านให้อยู่ภายในช่องของประตูหรือหน้าต่างได้อีกด้วย ซึ่งจะช่วยให้ไม่มีรางม่านและรางผ้าม่านโผล่ยื่นออกมานอกแนวผนัง หรือกรณีที่ผนังหนามากส่งผลให้มีพื้นที่ขอบเหลือเยอะมากทำให้ใช้เป็นที่วางของอเนกประสงค์เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งจุด


ส่วนการตกแต่งขอบผนังที่เหลืออยู่ภายใน นอกจากจะใช้วิธีการฉาบปูนเรียบและทาสีแล้ว ยังสามารถจะดำเนินการติดซับวงกบเพิ่มเติม โดยตัวซับวงกบก็คือแผ่นไม้ที่ใช้สำหรับตกแต่งวงกบประตู-หน้าต่าง วัตถุประสงค์เพื่อปิดรอยต่อระหว่างวงกบกับผนัง สามารถออกแบบให้มีชั้นและลวดลายต่างๆ ส่งผลให้เพิ่มมิติให้กับผนังภายในบ้านได้มากขึ้น

คุณอาจะสนใจบทความที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนการ renovateบ้านเก่า


การติดตั้งประตู-หน้าต่างชิดใน

วงกบประตู

ข้อดีของการติดตั้งแนวนี้คือ ช่วยป้องกันน้ำฝนได้มากกว่า เป็นเพราะความหนาของขอบผนังด้านนอก จะป้องกันไม่ให้รอยต่อระหว่างวงกบกับผนังต้องโดนฝนตรงๆ แต่อย่างไรก็ตาม บริเวณขอบผนังล่างต้องมีการทำขอบให้ลาดเอียงออกไปสู่ภายนอก เพื่อไม่ให้น้ำฝนลงไปขังอยู่ที่วงกบ ซึ่งจะส่งผลทำให้รั่วซึมมากขึ้นกว่าเดิม ส่วนในแง่ของความสวยงาม การติดตั้งประตู-หน้าต่างชิดใน เมื่อผนังโดนแสงแดดส่องจะทำให้เกิดเงาบริเวณประตู-หน้าต่าง ทำให้ผนังดูมีแสงเงามิติ ไม่แบน และหากว่าผนังมีความหนาขึ้นมาอีกพอสมควรขอบผนังก็จะสามารถช่วยกันแดดได้อีกเล็กน้อย


การติดตั้งประตู-หน้าต่างกึ่งกลางผนัง

วงกบประตู

หรือเรียกได้ว่าเป็นทางสายกลาง ซึ่งจะเป็นทางเลือกที่ผนวกเอาทั้งข้อดี-ข้อเสียเข้าด้วยกันของทั้งสองแบบ ทั้งการติดตั้งชิดนอกและชิดในไว้ด้วยกัน ถ้ามองในมุมของความสวยงามกรณีที่ผนังมีความหนาพอสมควรจะช่วยทำให้ผนังดูมีมิติที่มองเห็นทั้งข้างนอกข้างในมากขึ้น แต่ถ้าในแง่ของประโยชน์ใช้สอย ขอบผนังที่อยู่ด้านนอกก็จะสามารถช่วยป้องกันน้ำฝน และแดดได้พอสมควร และขอบผนังที่อยู่ด้านในก็สามารถนำเหล็กดัด ผ้าม่าน ซับวงกบมาติดตั้ง รวมทั้งใช้วางสิ่งของด้วยก็ได้ เมื่อมองในแง่ของการดูแลรักษาความสะอาดอาจจะต้องทำความสะอาดขอบทั้งผนังด้านนอกและด้านใน


ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า การตัดสินใจที่จะติดตั้งประตู-หน้าต่างชิดด้านนอกหรือด้านในผนัง ควรต้องพิจารณาเรื่องรูปแบบของประตู-หน้าต่างให้ดีเสียก่อน หากว่าเป็นบานเปิดกรณีที่ต้องการเปิดกว้างถึง 180 องศา ควรติดตั้งแบบชิดด้านนอกเพียวอย่างเดียว แต่ทว่าอยากเปิดแค่ประมาณ 90 องศา หรือประตู-หน้าต่างเป็นบานเลื่อน ถึงจะค่อยๆ พิจารณาไปถึงปัจจัยอื่นๆ อาทิเช่น ด้านของประโยชน์ใช้สอย ป้องกันการรั่วซึมของน้ำฝนหรือไม่ ซึ่งถ้าตรงบริเวณนั้นมีทำหลังคาคลุมไว้อยู่แล้วก็อาจไม่จำเป็น หรือหากต้องการพื้นที่ไว้สำหรับติดเหล็กดัด ควรเลือกเป็นการติดตั้งชิดด้านนอกหรือกึ่งกลางก็จะมีที่ว่างสำหรับติดเหล็กดัดด้านใน ส่วนการดูแลรักษาเรื่องความสะอาดหน้าต่างด้านนอกหรือด้านในสามารถทำได้ง่ายไม่ยุ่งยากหรือไม่ และเรื่องสุดท้ายคือความสวยงาม ต้องการให้ผนังดูมีมิติไม่แบนหรือไม่ ซึ่งปัจจัยที่ว่ามาทั้งหมดนี้เจ้าของบ้านต้องลองเปรียบเทียบและชั่งน้ำหนักตัดสินใจให้ดีก่อนที่จะติดตั้ง เพราะการนำมาแก้ไขจะมีความยุ่งกว่าทั้งเรื่องของเวลาและค่าใช้จ่าย


สิ่งที่ควรรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำบานประตู

จะเห็นได้ว่าวิธีแก้ปัญหาที่เราได้แนะนำไปข้างต้นนั้นแก้ไม่ยากเลย อย่างไรก็ตาม เราก็มีข้อมูลความรู้เสริมมาฝากเพิ่มอย่าง 6 วัสดุบานประตูยอดนิยมสำหรับใช้ในบ้าน และขั้นตอนการเปลี่ยนบานประตูใหม่ ไปดูกันเลยว่ามีข้อมูลอะไรน่าสนใจบ้าง


6 วัสดุบานประตูยอดนิยมสำหรับใช้ในบ้าน

การเลือกประตูบ้านควรเน้นความแข็งแรง ทนทาน และเหมาะสมกับการใช้งาน เราจึงได้รวบรวมวัสดุของประตูแต่ละชนิดที่เหมาะสมกับการใช้งานแบบต่างๆ เพื่อให้เป็นไอเดียในการเลือกประตูให้เหมาะสมกับการใช้งาน

  • ประตูไม้ : ไม้เป็นวัสดุที่คนไทยนิยมใช้ทำประตูเพราะเข้ากับบ้านได้ทุกสไตล์ แต่มีข้อจำกัดคือไม้จะเสื่อมสภาพได้ง่ายหากโดนน้ำหรือความชื้นบ่อยๆ ดังนั้น ควรเลือกใช้ประตูไม้เนื้อแข็งเท่านั้นและควรบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ
  • บานประตู WPC : บานประตู WPC หรือไม้สังเคราะห์ ทำจากไม้บดผสมพลาสติก แข็งแรงทนทาน กันไฟและแรงกระแทกได้ดี และสามารถแช่น้ำได้ถึง 100% ระยะเวลานานถึงกว่า 30 วัน ใช้งานได้ทุกส่วนของบ้านทั้งภายในและภายนอก
  • บานประตูไม้ HDF : หรือประตูแผ่นใยไม้เหมาะสำหรับใช้เป็นประตูภายในเนื่องจากมีคุณภาพดีกว่าประตูไม้อัด MDF และทนความชื้นได้ดี แต่ไม่เหมาะสำหรับภายนอก เนื่องจากไม่ทนแดดและฝน และควรใช้ในห้องน้ำที่มีการแยกส่วนเปียกและแห้งอย่างชัดเจน และต้องระบายอากาศได้ดี
  • บานประตูพีวีซี (PVC) : ประตูชนิดหนึ่งที่เหมาะสำหรับใช้ภายในบ้าน เนื่องจากทำจากวัสดุสังเคราะห์ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องความชื้นและปลวก แต่ไม่เหมาะสำหรับการใช้ภายนอกหรือบริเวณที่มีแสงแดดส่องถึง เนื่องจากความร้อนจากแสงแดดจะทำให้บานประตูกรอบเสียหาย และเนื้อวัสดุบางชนิดงัดแงะได้ง่าย
  • บานประตูยูพีวีซี (UPVC) : ประตู uPVC หรือ Vinyl เป็นประตูที่อัพเกรดมาจาก PVC และมีคุณสมบัติพิเศษเช่นไม่ลามไฟ ทนทานต่อสภาพอากาศ ป้องกันปลวกและแมลง และกันเสียงรบกวน ติดตั้งได้ทั้งภายในและภายนอกที่มีร่มบัง แต่ไม่แนะนำให้ใช้ภายนอกเต็มที่แบบที่ไม่มีหลังคาบัง
  • บานประตูกระจก : ใช้ในงานภายในเพื่อแบ่งกั้นห้องหรือพื้นที่ให้ดูกว้างขวางขึ้น ส่วนประตูนอกบ้านใช้กระจกบานเลื่อนเพื่อเชื่อมต่อกับโซนสวน กระจกที่นำมาใช้จะเป็นเทมเปอร์และลามิเนตที่แข็งแรง ทนทาน และแตกหักยาก มีให้เลือกหลากหลายแบบ เช่น ประตู Fiberglass และประตูกระจกนิรภัย

ขั้นตอนการเปลี่ยนบานประตูใหม่

ประตูหน้าต่างไม้ในบ้านที่อยู่อาศัยมานานจะเสื่อมโทรมได้ง่าย เมื่อถูกแดด ฝน ความชื้น และอาจเกิดรอยรั่วตามขอบหน้าต่างที่ทรุดโทรม สัตว์จำพวกแมลงมดก็จะเข้ามาก่อกวนในบ้าน การซ่อมแซมสามารถทำได้ง่ายๆ แต่หากเป็นกรณีที่ผุพังเสียหายจนเกินกว่าจะเยียวยา การเปลี่ยนประตูใหม่อาจเป็นทางเลือกที่จะช่วยได้ดีที่สุด

  • การเปลี่ยนประตูหน้าต่างใหม่สำหรับบ้านทั่วไป สามารถทำได้โดยการถอดประตูหรือหน้าต่างเดิมออกแล้วติดตั้งประตูหรือหน้าต่างใหม่แทน
  • หากต้องเปลี่ยนวงกบด้วยอาจจะเพิ่มความยุ่งยากและต้องใช้เวลาในการซ่อมแซมผนังปูนด้วย รวมถึงต้องเผื่อเวลาให้ปูนแห้งอย่างน้อย 1 วันก่อนติดตั้งวงกบใหม่
  • การเปลี่ยนประตูหน้าต่างไม้ รวมทั้งการเปลี่ยนวงกบจะต้องอาศัยเวลาและขั้นตอนในการดำเนินงานพอสมควร
  • ต้องพิจารณาตรวจสอบรอบบ้านว่ามีกี่บานที่ควรต้องเปลี่ยนบ้าง หรือหากอยากเปลี่ยนจากบานเปิดให้เป็นบานเลื่อน
  • เปลี่ยนประเภทวัสดุของประตูหน้าต่างที่มีความทนทานมากกว่าไม้ ทนต่อปลวกกัดแทะ ไม่ยืดหดตัว เช่น อะลูมิเนียม ไวนิล ก็ให้ดำเนินการไปเลยทีเดียว
  • เจ้าของบ้านควรเลือกทีมช่างที่มีความประณีตทั้งเรื่องการติดตั้งและรื้อถอน เพื่อให้ได้งานที่เป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผนังปูนน้อยที่สุด ใช้ระยะเวลาไม่นานเกินไป รวมทั้งต้องมีความชำนาญในการวัด ตัด ประกอบให้ได้ตามขนาดที่ต้องการ

การเลือกประตูที่เหมาะสมสำหรับบ้านของเราจะช่วยเพิ่มความสวยงามและประหยัดพื้นที่ในบ้านได้ แต่การดูแลรักษาประตูหน้าต่างเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญต่อการใช้งานในระยะยาว หากเราสามารถดูแลรักษาได้อย่างถูกวิธีเราจะได้ใช้ประตูหน้าต่างของเราได้อย่างนานนับปี และไม่ต้องเสียเงินซื้อประตูหน้าต่างใหม่ทุกปี

Con Mueangsak

เขียนโดย Con Mueangsak

โฟร์แมนเป็นงานประจำ เขียนบทความเกี่ยวกับช่างและงานก่อสร้างเป็นงานเสริม รักการก่อสร้างเป็นชีวิตจิตใจ สนใจติดต่องานก่อสร้างติดต่อในอีเมลได้เลยครับ ผู้เขียนเว็บไซต์ Constructacon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save