บทความอัพเดทล่าสุดเมื่อ June 15, 2023

ปลูกบ้านทั้งทีคงไม่อยากให้บ้านของเรามีปัญหา ยิ่งในช่วงดูเหมือนข่าวพายุโหมกระหน่ำประเทศไทยช่างรุนแรงเสียจริง ส่งผลให้แทบทุกพื้นที่เกิดฝนฟ้าตกหนัก แถมบางพื้นที่ยังพ่วงด้วยพายุลูกเห็บเข้าไปอีก ไม่เว้นแม้กระทั่งในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เล่นเอาน้ำท่วมบ้านเก็บข้าวของกันไม่ทันไปหลายหลังเลยทีเดียว เหตุนี้เองคนที่กำลังสร้างบ้านจึงต้องคำนึงถึงและเตรียมรับมือกับปัญหาน้ำรั่วซึมที่สามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยจุดที่ควรเริ่มต้นเป็นอันดับแรกก็คือโครงสร้างบ้าน รวมไปจนถึงส่วนประกอบหลักต่างๆๆอย่างเช่น หลังคา พื้น ระบบท่อ หน้าตา และรางน้ำฝน ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่จะทำให้น้ำรั่วซึมเข้าสู่ตัวบ้านได้


1. เริ่มจากหลังคา

ปลูกบ้านเอง

โครงสร้างที่เป็นส่วนสำคัญของบ้าน หลังจากที่ฝนตกติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน หลายบ้านคงเริ่มวิตกแล้วว่าจะเกิดปัญหาน้ำรั่วซึมเข้าบ้านซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้บ้านพังทลายลงได้ โดยส่วนมากปัญหาที่มักพบเป็นจุดแรกก็คือหลังคามีรอยร้าว ดังนั้นคนที่กำลังคิดจะปลูกสร้างบ้านจึงควรเอาใจใส่ในส่วนของหลังคาให้มาก โดยเริ่มจากโครงสร้างหลักอย่างเช่น ส่วนของครอบที่ใช้ปิดรอยต่อหลังคา เพราะจากการตรวจสอบจากเหล่าวิศวกรมักพบว่าต้นเหตุก็มาจากบริเวณดังกล่าว ฉะนั้นในขั้นตอนระหว่างการวางโครงสร้างบ้านควรตรวจสอบการทำงานของช่างด้วยว่าวางครอบเรียบร้อยดีหรือไม่ มีส่วนที่เผยออกมาบ้างหรือเปล่าที่สำคัญคือควรอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน รวมทั้งส่วนของปีกนก ค.ส.ล (โครงสร้างเหล็ก) มีหน้าที่ครอบปิดแนวรอยต่อกระเบื้องชนผนัง จึงจำเป็นต้องวางให้ถูกต้องซึ่งก็คือการวางให้อยู่ในลักษณะยกชิดกับผนัง เพื่อช่วยลดปัญหาน้ำรั่วซึมมาจากหลังคาเมื่อเจอกับสภาพฝนตกหนัก


2. เรื่องพื้นๆที่ไม่พื้น

เป็นอีกส่วนหนึ่งของโครงสร้างบ้านที่ไม่ควรมองข้ามหรือละเลยโดยเด็ดขาด นั่นก็คือส่วนของพื้นบริเวณห้องน้ำ และพื้นชั้นดาดฟ้า ซึ่งถ้าหากเป็นพื้นชั้นดาดฟ้าจะพบในกรณีของพวกบ้านรูปแบบทาวน์โฮมหรืออาคารพาณิชย์ โดยมีปัจจัยอยู่ 2 สาเหตุหลักๆคือ

  • พื้นผิวคอนกรีตห้องน้ำเกิดรอยร้าว

ปลูกบ้านเอง

หากลองสังเกตพบว่ามีคราบน้ำสีเหลืองไหลซึมออกมาจากบริเวณเพดานบ้านอย่างเห็นรอยได้อย่างชัดเจน สาเหตุหลักก็มาจากพื้นผิวคอนกรีตส่วนห้องน้ำเกิดรอยร้าว ส่งผลให้น้ำสามารถไหลซึมผ่านชั้นโครงสร้าง เมื่อเกิดการสะสมเป็นระยะเวลานานๆจะทำให้เหล็กชั้นในโครงสร้างบ้านเป็นสนิม สุดท้ายปูนก็เกิดการกัดกร่อนในอันดับต่อไป วิธีแก้ไขก็คือเอากระเบื้องห้องน้ำออก หลังจากนั้นก็ดำเนินการปิดรอยร้าวตามจุดต่างๆพร้อมปรับเทให้ระดับพื้นลาดเอียงมากกว่าเดิม เพื่อที่น้ำจะได้ไหลลงท่ออย่างสะดวกยิ่งขึ้น

  • ไม่ได้เตรียมระบบกันซึมบนพื้นดาดฟ้า

ปลูกบ้านเอง

ส่วนมากปัญหาของน้ำรั่วซึมชั้นดาดฟ้ามักเกิดจากการละเลยเรื่องการวางระบบกันซึมให้กับโครงสร้างบ้าน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรทำตั้งแต่ช่วงก่อสร้างด้วยวิธีง่ายๆแค่นำน้ำยาประสานคอนกรีตผสมกับซีเมนต์ แล้วนำไปทาบนชั้นดาดฟ้าเพียงแค่นี้ก็สามารถแก้ปัญหาน้ำรั่วซึมจากชั้นดาดฟ้าได้แล้ว


3. ระบบท่อ

ปลูกบ้านเอง

บ้านที่สร้างทั่วไปมักเลือกใช้ท่อ PVC มาเป็นส่วนประกอบของการวางระบบท่อให้กับโครงสร้างบ้าน ซึ่งท่อ PVC มีข้อเสียคือไม่สามารถรับแรงดันน้ำมากๆได้ ด้วยเหตุนี้เวลาสร้างบ้านจึงควรหันมาเปลี่ยนเป็นท่อ PP-R เพราะสามารถเชื่อมเป็นเนื้อเดียวกัน มีความหนาแน่นมากขึ้น ทำให้หมดปัญหาเรื่องรอยรั่วไปได้ แถมยังมีอายุการใช้งานที่นาน อย่างไรก็ตามถึงแม้จะเปลี่ยนท่อแล้ว ก็ต้องหมั่นตรวจสอบท่อน้ำอยู่ตลอดเวลา เพราะเมื่อเกิดมีน้ำรั่วไหลขึ้น ก็ต้องเสียเงินและเสียเวลามาแก้ไข


4. หน้าต่าง

ปลูกบ้านเอง

จุดที่เกิดน้ำรั่วซึมมากที่สุดของบ้าน โดยเฉพาะบ้านไหนใช้เป็นหน้าต่างอลูมิเนียมมาเป็นส่วนของโครงสร้างบ้าน อย่าลืมแจ้งให้ช่างตัดเฟรมให้เข้ากับมุมกรอบหน้าต่างพอดี เพื่อป้องกันไม่ให้มีช่องน้ำซึมเข้ามาได้ ประกอบกับจะต้องตรวจสอบด้วยว่ายึดน็อตไม่แน่นหรือหลวมเกินไป เพราะจะเป็นสาเหตุทำให้เฟรมที่ยึดอลูมิเนียมไม่แนบสนิท ส่วนอีกหนึ่งปัจจัยก็คือเรื่องของซิลินโคนจำเป็นต้องดูวันหมดอายุ เพราะหากว่าใกล้หมดอายุการใช้งานเมื่อเวลาฝนตกหนักๆน้ำก็สามารถรั่วซึมเข้ามาได้เช่นกัน


5. รางน้ำ

ปลูกบ้านเอง

ก่อนที่คิดจะติดตั้งรางน้ำฝนควรรู้ก่อนว่าหากเลือกเป็นรางน้ำฝนคอนกรีต เมื่อผ่านการใช้งานมาเป็นระยะเวลายาวนานจะทำให้เกิดรอยร้าว ส่งผลให้น้ำรั่วไหลเข้าบ้านได้ หรือกรณีที่ติดตั้งรางน้ำไม่มีคุณภาพ ก็จะทำให้น้ำล้นราง จนกลายเป็นปัญหารั่วซึมต่อมา เพราะฉะนั้นรางน้ำก็เป็นส่วนที่ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้ส่วนอื่นๆ เริ่มตั้งแต่การเลือกขนาด ไปจนถึงการทาวัสดุกันซึมทับ พร้อมเจาะรูเล็กๆบริเวณรางด้านนอก เพื่อแก้ปัญหาน้ำล้นราง ประกอบกับต้องดูแลเรื่องความสะอาดไม่ให้พวกเศษกิ่งไม้ใบไม้ไปอุดตันรางน้ำฝนด้วย


วิธีสังเกตรอยรั่วและการตกแต่งบ้านเพื่อป้องกันน้ำรั่ว

นอกจากข้อคิดด้านบนแล้วเรายังมีวิธีสังเกตน้ำรั่วที่หน้าต่างและหลังคาแบบง่ายๆมาฝากกันรวมถึงอธิบายความสำคัญเกี่ยวกับการตกแต่งบ้านหลังปลูกบ้านเสร็จว่าทำไมจึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆที่จะช่วยป้องกันการรั่วของน้ำในอนาคตได้

วิธีสังเกตรอยรั่วที่หน้าต่าง

วิธีตรวจสอบหน้าต่างที่มีรอยน้ำรั่วนั้นไม่ยากโดยมีวิธีสังเกตรอยรั่วที่หน้าต่าง ได้แก่ การตรวจสอบการติดตั้งกระจกด้วยการกดลงไปบนกระจก, การปิดหน้าต่างทุกบานในบ้านเพื่อตรวจสอบแสงลอดเข้ามา, การสังเกตดูจากสีของขอบหน้าต่างรวมทั้งผนังรอบ ๆ, การตรวจสอบจากวงกบของหน้าต่างและการตรวจสอบหลังฝนหยุดตก

วิธีป้องกันหลังคารั่ว

ในการติดตั้งหลังคาควรพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการใช้งานและความคงทนของหลังคา เช่น ประเภทของวัสดุหลังคา ความลาดชันของหลังคา การซ้อนกันของวัสดุหลังคา การยึดหลังคา และการดูแลรักษาหลังคาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้การทำความเข้าใจเกี่ยวกับการติดตั้งและการดูแลรักษาหลังคาจะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการใช้งานและความปลอดภัยของสิ่งแวดล้อมในระยะยาว (8 ข้อข้างล่างจะเป็นการสรุปวิธีป้องกันคร่าวๆเท่านั้น รายละเอียดการป้องกันหลังคารั่วแบบเต็มอ่านได้ที่นี่ วิธีป้องกันหลังคารั่ว) สิ่งที่ควรต้องคำนึงถึงมี

  1. วิธีการติดตั้ง
  2. ความลาดต้องพอดี
  3. ระยะซ้อนต้องถูกหลัก
  4. ตัวยึดหลังคาต้องได้มาตรฐาน
  5. ต้องไม่ยึดแน่นหรือหลวมเกินไป
  6. หลังคาต้องไม่ชนกับผนัง
  7. ระวังตะเข้สันต้องได้คุณภาพ
  8. ตะเข้รางแคบต้องมีขนาดที่พอดี

งานตกแต่งบ้านหลังสร้างบ้านเสร็จเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยป้องกันน้ำรั่ว

งานตกแต่งบ้านครอบคลุมการทำงานต่างๆ เช่น ทาสี ปูกระเบื้อง ติดวอลเปเปอร์ และการติดตั้งวัสดุต่างๆ เช่น ไม้ปาร์เกต์ ไม้ลามิเนต หินขัด และต้องคำนึงถึงคุณภาพ ระยะเวลาการใช้งาน และความปลอดภัย การติดตั้งบานประตูและหน้าต่างต้องดูแนวดิ่ง-ฉาก และต้องเรียบสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการรั่วซึมในอนาคต บางบ้านอาจจะมีการติดตั้งเฟอร์นิเจอร์บิ้วอิน ระบบแสงสว่าง และอุปกรณ์สุขภัณฑ์ในห้องน้ำ ซึ่งต้องตรวจสอบว่าติดตั้งได้ตามมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งในขั้นตอนนี้ต้องตรวจงานเป็นอย่างดี ดูว่ามีโอกาสที่มีจุดไหนจะรั่วไหม จะได้ซ่อมได้ทันท่วงที ซึ่งนอกจากงานตกแต่งบ้านแล้ว คุณอาจสนใจข้อควรรู้ต่างๆเกี่ยวกับการสร้างบ้านด้วยตัวเอง สามารถอ่านต่อได้ที่ 5 ข้อควรรู้ก่อนสร้างบ้านด้วยตัวเอง

วิธีแก้ชักโครกรั่วเบื้องต้น

แถมกันอีกนิดเมื่อพูดถึงเรื่องรั่วกับวิธีแก้ชักโครกรั่วเบื้องต้น ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาน้ำไหลในชักโครกไม่หยุด การแก้ไขปัญหาชักโครกรั่วนั้นง่ายมาก โดยเราสามารถทำเองได้โดยไม่ต้องง้อช่างเลย แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าชักโครกแต่ละแบบจะมีข้อแตกต่างกันอย่างไร เช่น ถ้าเป็นแบบกดชำระทางด้านข้างอุปกรณ์ภายในถังพักน้ำก็จะมีลูกลอยกลมๆ แต่หากว่าเป็นปุ่มกดชำระล้างด้านบนฝาถังพักน้ำจะมีลักษณะเป็นทรงกระบอกอยู่ภายใน

สำหรับชักโครกที่มีปุ่มกดด้านบนถังพักน้ำ ส่วนใหญ่จะมีให้เลือกทั้งแบบปุ่มกดเดียวและแบบสองปุ่มกด ภายในถังพักน้ำประกอบไปด้วยชุดน้ำเข้าและชุดน้ำออก โดยชุดน้ำเข้าจะช่วยควบคุมระดับน้ำในถังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่ให้สูงเกินระดับที่จะส่งผลทำให้น้ำไหลเข้าไปในโถสุขภัณฑ์ ส่วนชุดน้ำออกจะทำหน้าที่ในการปล่อยน้ำให้ชำระล้างเวลาที่เรากดปุ่ม หากเกิดการรั่วซึมจากชุดน้ำออก จุดที่เกิดการรั่วซึมมักเกิดขึ้นที่แหวนยางหรือแผ่นยาง เนื่องจากเป็นจุดปิดช่องน้ำไหล หากมีคราบตะกรันหรือเศษวัสดุไปอุดตัน หรือแหวนยางเสื่อมสภาพ จะส่งผลให้เกิดช่องว่างระหว่างแหวนยางและช่องปล่อยน้ำ น้ำจึงไหลเข้าสู่โถชักโครกอยู่ตลอดเวลา หากเกิดกรณีนี้ขึ้นสามารถตรวจสอบและแก้ไขได้เองในเบื้องต้น ด้วยการปิดวาว์ลน้ำดีของโถชักโครกที่จะส่งเข้ามาเก็บในถังพักน้ำไว้ก่อน โดยการเปิดฝาถังพักน้ำยกขึ้นมาตรงๆ

  • เมื่อเจอโถชักโครกแบบปุ่มกดเดียว ตรวจสอบสภาพแผ่นยาง หากมีเศษอะไรติดค้างให้เอาออกและทำความสะอาด ถ้าเสื่อมสภาพให้เปลี่ยนแผ่นยางใหม่
  • เมื่อเป็นโถชักโครกแบบสองปุ่มกด ให้ลองเอามือบิดตัวกระบอกของชุดน้ำออก โดยบิดทวนเข็มนาฬิกาให้แกนข้างในหลุดออกจากล็อคแล้วดึงชุดอุปกรณ์นี้ออกมา สังเกตที่ตัวแหวนยางด้วยว่าเสื่อมสภาพแล้วหรือยัง หากพบว่าเสื่อมสภาพก็ควรเปลี่ยนแหวนยางใหม่ หากใส่กลับเข้าไปแล้วแต่น้ำยังไหลไม่หยุด ก็มีความเป็นไปได้ว่าเกิดจากอุปกรณ์ส่วนอื่นที่เกิดการชำรุด

สำหรับคนที่กำลังมองหาบริษัทรับสร้างบ้านใหม่อย่าลืมเรื่องการป้องกันปัญหาน้ำรั่วซึมก่อนเป็นอันดับแรก ยิ่งถ้าอยู่ในช่วงหน้าฝนด้วยแล้ว ก็ถือว่าเป็นโอกาสเหมาะ เพราะจะได้ทดสอบว่าสิ่งที่ทำไว้สามารถป้องกันน้ำรั่วได้หรือไม่ จะได้ดำเนินการแก้ไขทันที ดีกว่าที่จะมานั่งปวดหัวแก้ปัญหาน้ำรั่วในภายหลัง ซึ่งแน่นอนว่าการซ่อมจะต้องเสียค่าใช้จ่ายกับเสียเวลามากกว่าการป้องกันที่ดีอย่างแน่นอน หรือคนที่ซื้อบ้านมือสองก็สามารถนำขั้นตอนเหล่านี้ไปตรวจปัญหาน้ำที่อาจจะรั่วในอนาคตได้เช่นกัน สุดท้ายแล้วสำหรับใครที่กำลังจะขึ้นบ้านไหมหรือซื้อบ้านมือสอง ขอให้ไม่เจอปัญหาเรื่องน้ำรั่วในอนาคตนะครับ

Con Mueangsak

เขียนโดย Con Mueangsak

โฟร์แมนเป็นงานประจำ เขียนบทความเกี่ยวกับช่างและงานก่อสร้างเป็นงานเสริม รักการก่อสร้างเป็นชีวิตจิตใจ สนใจติดต่องานก่อสร้างติดต่อในอีเมลได้เลยครับ ผู้เขียนเว็บไซต์ Constructacon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save