บทความอัพเดทล่าสุดเมื่อ June 15, 2023

สร้างบ้านด้วยตัวเอง หรือจะซื้อบ้านก็มักจะได้ยินข่าว เรื่องข่าวบ้านทรุด บ้านพัง บ้านถล่ม โครงการจัดสรรที่ซื้อมีปัญหา งบประมาณบายปลายจนเกินตัว ล้วนเป็นข่าวที่ไม่มีใครอยากพบเจอหรือได้ยินกันทั้งนั้น เพราะมันย่อมหมายถึงชีวิตและทรัพย์สินของเจ้าของบ้านที่ต้องเสียไปอย่างที่ไม่ควรจะเสีย และเหตุการณ์เหล่านี้ก็ไม่ได้เกิดกับบ้านราคาหลักแสนเพียงเท่านั้น บ้านราคาตั้งแต่หลักล้านไปจนถึงหลายสิบล้านบาทก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้เช่นกัน พอมาถึงตรงนี้หลายคนคงจะเริ่มใจคอไม่ค่อยดีแล้วใช่หรือไม่ เราควรให้ความสำคัญกับการตรวจตราสอดส่องระหว่างช่วงการก่อสร้างบ้านแต่ละขั้นตอน เพื่อป้องกันความยุ่งยากในอนาคต เจ้าของบ้านจึงจำเป็นต้องรู้ขั้นตอนการสร้างบ้านดังนี้

1. ปรับพื้นดินก่อนเริ่มก่อสร้าง

ปรับพื้นดินก่อนเริ่มก่อสร้าง

เริ่มแรกการสร้างบ้านจะต้องเริ่มจากการปรับพื้นที่ที่ดินให้มีความราบเสมอและแข็งแรงมากพอที่จะรับน้ำหนักของบ้านได้ เพราะพื้นดินส่วนใหญ่ก่อนที่จะปลูกสร้างบ้านมักมีลักษณะของดินที่ไม่แน่น ร่วนซุย ใต้พื้นดินมีรูพรุนจากการขุดยิ่งถ้าเป็นที่ดินที่เคยเป็นบ่อน้ำมาก่อนด้วยแล้ว ยิ่งต้องให้ความใส่ใจกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยปกติจะนิยมถมดินในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนพฤษภาคม เพราะจะได้ดินแน่นและมีคุณภาพ แถมยังทำงานได้สะดวกเพราะไม่ต้องกลัวอุปสรรคจากฝนตก นอกจากนั้นแล้วที่ดินควรถมให้สูงกว่าระดับถนนประมาณ 50-80 เซนติเมตร และอยู่สูงกว่าท่อระบายน้ำ เพื่อจะได้ช่วยลดความเสี่ยงต่อน้ำรอการระบายหากเกิดพายุฝนตกหนัก หลังจากมีการปรับพื้นเรียบร้อยแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนในการเตรียมลงมือสร้าง

2. วางฐานรากและโครงสร้างหลัก

วางฐานรากและโครงสร้างหลัก

การวางโครงสร้างบ้านให้ดีตั้งแต่ต้นจะช่วยทำให้รากฐานของบ้านแข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นการลงเสาเข็ม หรือการหล่อตอม่อ รวมทั้งการฉีดน้ำยากันปลวกระหว่างก่อสร้างด้วย ซึ่งเริ่มจากงานเสาเข็ม ซึ่งเปรียบเสมือนโครงกระดูกของบ้านเพราะหน้าที่หลักของเสาเข็มคือการค้ำยันบ้านแล้วถ่ายน้ำหนักบ้านลงพื้นดิ โดยขั้นตอนกการตอกเสาเข็มไม่ควรตอกไปจนถึงชั้นทราย และทิ้งระยะห่างอย่างน้อย 3 เท่าของขนาดความกว้างเสาเข็ม เพื่อไม่ให้แรงระหว่างดินกับเสาเข็มได้รับการรบกวน ซึ่งส่วนใหญ่ผู้รับเหมาและผู้ออกแบบจะเป็นผู้ดำเนินการในการกำหนดระยะที่หน้างาน พร้อมทั้งกำหนดเสาเข็มเพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่ว่าจะใช้เป็นเสาเข็มตอกหรือเสาเข็มเจาะเป็นต้น ในขณะเดียวกันงานโครงสร้างชั้นล่างยังมีส่วนประกอบของคาคอดิน คาน เสา และพื้นชั้นล่าง ดังนั้นขนาดของคอนกรีตเสริมเหล็กในงานโครงสร้างควรมีขนาดและค่ากำลังอัดตามที่วิศวกรคำนวน ซึ่งต้องใช้เวลาในการบ่อเพาะคอนกรีตและถอดแบบค้ำย้ำประมาณ 14-28 วัน เพื่อให้โครงสร้างหลักสามารถที่จะรองรับน้ำหนักโครงสร้างได้ นอกจากนั้นแล้วในขั้นตอนนี้จะมีการขุดดินสำหรับเตรียมวางระบบสุขาภิบาล เช่น ระบบน้ำทิ้ง ท่อประปา และบ่อพัก ซึ่งจะถูกติดตั้งและเดินท่อเข้าไปภายในบ้าน ทางที่ดีเราควรที่จะจดหรือถ่ายรูปตำแหน่งเอาไว้เผื่อใช้เป็นข้อมูลในการซ่อมแซมคราวหน้า

3. หลังคาและโครงสร้างของบันได

หลังคาและโครงสร้างของบันได

หลังจากก่อสร้างในส่วนของโครงสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็มาถึงขั้นการติดตั้งหลังคา ซึ่งในปัจจุบันก็มีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ เช่น หลังคาทรงจั่ว ทรงปั่นหยา ทรงแบน ทรงเพิงหมาแหงน รวมทั้งสีสันของหลังคาที่เจ้าของบ้านสามารถเลือกได้ตามความชอบใจ โดยในช่วงนี้ยังเป็นช่วยของการเริ่มทำโครงสร้างบันไดและเก็บงานโครงสร้างส่วนอื่นๆให้พร้อมสำหรับการก่อผนังในลำดับถัดไป

4. ผนังบ้าน วงกบ รวมทั้งงานระบบ

ผนังบ้าน วงกบ รวมทั้งงานระบบ

มาถึงขั้นตอนการก่อผนังและหล่อเสาเอ็นเช่น ผนังก่ออิฐ ผนังสำเร็จรูป หรือ Precast ผนังยิปซั่ม ผนังกระจก เมื่อก่อผนังตามแบบที่วิศวกรแจ้งมาแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการติดตั้งวงกบประตูหน้าต่าง โดยในงานฉาบผนังก่ออิฐเป็นงานละเอียดต้องใช้ความชำนาญและพิถีพิถันในการฉาบผนังให้เรียบสม่ำเสมอ เช่นเดียวกับผนังเบาที่ต้องฉาบเก็บรอยต่อระหว่างแผ่นผนังให้เรียบเนียนสำหรับการปิดผิวต่อไป รวมทั้งเรื่องของงานระบบต่างๆฝังไปในผนังที่สามารถทำควบคู่กันไปได้ ไม่ว่าจะเป็นระบบไฟฟ้า ระบบประปา ช่องเซอร์วิส และการติดตั้งฝ้าเพดานตามความสูงที่กำหนดเอาไว้ในแบบ

5. งานตกแต่งบ้าน

งานตกแต่งบ้าน

เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการสร้างบ้าน ซึ่งในขั้นตอนนี้ก็จะเหลืองาน ทาสี ปูกระเบื้อง การติดวอลเปเปอร์ หรือการปูวัสดุพื้น เช่น ไม้ปาร์เกต์ ไม้ลามิเนต หินขัด (ขอแนะนำการเลือกวัสดุควรคำนึงถึงคุณภาพ ระยะเวลาการใช้งาน และ ความปลอดภัยมาเป็นองค์ประกอบก่อนการตัดสินใจ) ในส่วนของการตกแต่งบ้านยังครอบคลุมถึงเรื่องการติดตั้งบานประตู หน้าต่าง เข้ากับวงกบที่ได้เตรียมไว้แล้ว ต้องดูว่าขอบผนังควรเรียบสม่ำเสมอ ได้ระดับทั้งแนวดิ่ง-ฉาก เพื่อให้ประตูและหน้าต่างติดตั้งได้พอดี ไม่รั่วซึมในอนาคต บางบ้านอาจจะให้ช่างทำเฟอร์นิเจอร์บิ้วอินต่างๆไปด้วย ทั้งห้องนอน ห้องครัว ชั้นวางของ หรือการติดตั้งวัสดุอุปกรณ์และสุขภัณฑ์ในห้องน้ำ ระบบแสงสว่างต่างๆ ซึ่งต้องตรวจสอบให้เรียบร้อยว่าแต่ละจุดมีการติดตั้งได้ตามแบบหรือตรงตามมาตรฐานหรือไม่


เรื่องอื่นๆที่ต้องรู้เพิ่มเติมก่อนสร้างบ้าน

การรู้วิธีลดการใช้จ่ายในการสร้างบ้านเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของคุณได้ นอกจากนั้นปัญหาหลักของการสร้างบ้านอย่างปัญหาน้ำรั่วยังเป็นอีกเรื่องที่ต้องรู้ให้ดีก่อนสร้างบ้าน ซึ่งเราจะอธิบายทั้ง 2 เรื่องในส่วนล่างของบทความ

8 วิธีประหยัดงบประมาณในการสร้างบ้าน

การปลูกบ้านราคาถูกสามารถทำได้โดยการประหยัดค่าใช้จ่ายด้วยการลดสเปคแบบบ้านหรือปรับวัสดุต่างๆ รวมถึงการเลือกวัสดุก่อสร้างให้เหมาะกับบ้าน จะช่วยลดค่าใช้จ่ายและแก้ปัญหางบก่อสร้างบานปลายได้อีกด้วย โดยแบ่งอย่างละเอียดดังนี้:

  1. เจ้าของบ้านที่ต้องการประหยัดงบประมาณสร้างบ้านสามารถปรับเปลี่ยนหรือลดทอนขั้นตอนต่างๆ เช่น การเดินสายไฟภายในบ้าน โดยใช้วิธีการเก็บสายไฟให้เรียบร้อยแทน หรือถ้าเป็นบ้านแบบชั้นเดียวแต่ต้องการให้ยกสูงขึ้น ต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นในการถมดิน เพื่อป้องกันไม่ให้บ้านทรุด และป้องกันน้ำท่วมเข้าบ้าน ซึ่งจะช่วยให้บ้านดูโปร่งขึ้น โดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่มขึ้น
  2. เลือกใช้วัสดุเฉพาะที่จำเป็นเมื่อต้องการสร้างบ้านราคาประหยัด โดยเน้นเลือกใช้วัสดุที่ไม่ต้องโชว์ความสวยงาม แต่เน้นใช้งานเสียมากกว่า เช่น การเทปูนเปลือยธรรมดาหรือหินธรรมชาติเป็นส่วนประกอบของการตกแต่ง แทนการใช้กระเบื้องปูพื้น หรือเลือกวัสดุอย่างหลังคาสกายไลท์เพื่อประหยัดค่าไฟและเพิ่มพื้นที่สว่างให้กับบ้าน
  3. การเลือกสร้างบ้านให้เหมาะสมกับพื้นที่เป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากการสร้างบ้านเต็มพื้นที่ไม่เพียงทำให้ดูไม่สวยงามแต่ยังทำให้ระบบถ่ายเทอากาศของบ้านไม่ดีเท่าที่ควร แนะนำให้เลือกพื้นที่การสร้างบ้าน 2 ใน 4 ของพื้นที่เพื่อปลูกผักสวนครัวหรือเกษตรอินทรีย์เพิ่มรายได้ให้ครอบครัว
  4. การสร้างบ้านในปัจจุบันควรคำนึงถึงการติดวัสดุที่ช่วยเย็นบ้าน เช่น ฉนวนกันความร้อน แต่วิธีการแก้ไขที่ดีกว่าคือการก่อสร้างโดยคำนึงถึงทิศทางลมและแสง เพื่อให้บ้านเย็นและประหยัดค่าใช้จ่าย โดยทิศเหนือใต้เป็นทิศที่แนะนำเนื่องจากลมพัดผ่านและไม่โดดแดดในช่วงกลางวัน
  5. การวางแผนและผังบ้านเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างบ้าน เพราะช่วยลดการต่อเติมลงได้ การวางแผนควรคิดถึงประโยชน์ใช้สอยก่อน บริษัทรับสร้างบ้านที่ดีจะมีสถาปนิกผู้มีความชำนาญออกแบบและวางแผนให้ หรือถ้าเจ้าของบ้านออกแบบเองก็ต้องวาง Layout ให้ดีเพื่อประหยัดงบประมาณการสร้างบ้าน
  6. การลดสเปคของพื้นเป็นวิธีหนึ่งในการประหยัดงบประมาณในการสร้างบ้านราคาประหยัด โดยเปลี่ยนจากพื้นกระเบื้องเนื้อดีราคาแพงมาเป็นพื้นปูนเปลือย ทำให้บ้านดูเท่ห์และประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น
  7. การเปลี่ยนผนังอิฐมอญเบาเป็นผนังเบาแบบยิปซั่มบอร์ดเป็นทางเลือกที่คุ้มค่ากว่า เนื่องจากราคาถูกกว่าและมีคุณภาพโดดเด่นเท่ากับอิฐมอญเบาทุกประการ
  8. เลือกใช้วัสดุธรรมชาติเพื่อก่อสร้างบ้าน เช่น ไม้ไผ่ ฝางข้าว หลังคามุง ซึ่งมีราคาไม่แพงและมีคุณสมบัติยอดเยี่ยม การใช้วัสดุเหล่านี้เป็นส่วนประกอบหลักของบ้านปู่ย่าตายายรุ่นเก่าๆ

มาดูวิธีป้องกันน้ำรั่วก่อนสร้างบ้าน

การสร้างบ้านควรคำนึงถึงปัญหาน้ำรั่วซึมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ต่อไปนี้เรามีวิธีสร้างบ้านไม่ให้น้ำรั่ว มาอธิบายให้เห็นภาพโดยเริ่มต้นจากโครงสร้างบ้านและส่วนประกอบหลักต่างๆ เช่น หลังคา, พื้น, ระบบท่อ, หน้าต่าง และรางน้ำฝน เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำรั่วซึมเข้าสู่ตัวบ้านได้

  • หลังคาบ้าน หลังจากฝนตกติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน บ้านบางแห่งอาจเกิดปัญหาน้ำรั่วซึมเข้าบ้านได้ โดยส่วนมากเกิดจากหลังคามีรอยร้าว ดังนั้นควรใส่ใจในส่วนของโครงสร้างหลักของบ้าน เช่น ครอบที่ใช้ปิดรอยต่อหลังคา และปีกนก ค.ส.ล (โครงสร้างเหล็ก) ให้ถูกต้องและเหมาะสมกับการใช้งาน เพื่อลดปัญหาน้ำรั่วซึมจากหลังคาเมื่อเจอกับสภาพฝนตกหนัก
  • พื้นห้องน้ำและดาดฟ้า การวางระบบกันซึมให้กับโครงสร้างบ้านเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรทำตั้งแต่ช่วงก่อสร้างเพื่อป้องกันน้ำรั่วซึมจากพื้นบริเวณห้องน้ำและชั้นดาดฟ้า การละเลยอาจทำให้เหล็กชั้นในโครงสร้างบ้านเป็นสนิมและปูนก็เกิดการกัดกร่อน วิธีแก้ไขคือเอากระเบื้องห้องน้ำออกแล้วปิดรอยร้าวตามจุดต่างๆพร้อมปรับเทให้ระดับพื้นลาดเอียงมากกว่าเดิม
  • ระบบท่อ การสร้างบ้านควรเปลี่ยนท่อ PVC เป็นท่อ PP-R เพราะสามารถรับแรงดันน้ำมากขึ้นและเชื่อมเป็นเนื้อเดียวกัน ทำให้ไม่เกิดรอยรั่วไหล และมีอายุการใช้งานที่นาน แต่ต้องหมั่นตรวจสอบท่อน้ำเพื่อป้องกันการเสียเงินและเวลาในการแก้ไขปัญหาน้ำรั่วไหล
  • หน้าต่าง เพื่อป้องกันน้ำรั่วซึมเข้ามาในบ้าน ควรตรวจสอบว่าบ้านไหนมีหน้าต่างอลูมิเนียมและต้องแจ้งให้ช่างตัดเฟรมให้เข้ากับมุมกรอบหน้าต่างพอดี และต้องตรวจสอบด้วยว่ายึดน็อตไม่แน่นหรือหลวมเกินไป เพราะจะเป็นสาเหตุทำให้เฟรมที่ยึดอลูมิเนียมไม่แนบสนิท ส่วนอีกหนึ่งปัจจัยก็คือการตรวจสอบวันหมดอายุของซิลิโคน เพราะหากใกล้หมดอายุการใช้งานเมื่อเวลาฝนตกหนักๆน้ำก็สามารถรั่วซึมเข้ามาได้
  • รางน้ำ การติดตั้งรางน้ำฝนควรคำนึงถึงคุณภาพและขนาดของราง รวมถึงการทาวัสดุกันซึมทับและเจาะรูเล็กๆบริเวณรางด้านนอก เพื่อป้องกันน้ำล้นรางและการรั่วซึม และต้องรักษาความสะอาดของรางเพื่อป้องกันการอุดตันด้วยเศษกิ่งไม้ใบไม้

ส่วนสำคัญที่สุดในการก่อสร้าง-ตรวจรับบ้านก็คืออย่าเพิ่งรีบเซ็นต์สัญญรับมอบบ้าน หากคุณยังตรวจสอบไม่ดีพอ เพราะช่วงนี้คุณกำลังเป็นต่อ เมื่อพบข้อผิดพลาดก็ยังสามารถเรียกช่างให้เข้ามาดำเนินการแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว เมื่อไหร่ที่คุณรับมอบงานไปแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ต้องเป็นคุณที่ต้องดำเนินการเอง เพราะฉะนั้นอ่านบทความข้างบนทั้งหมดซ้ำอีกรอบก่อนจะรับมอบบ้านหรือคิดจะเซ็นสัญญาอะไรกับบริษัทสร้างบ้านจะช่วยขจัดเรื่องปวดหัวของคุณกับทีมช่างได้ไม่มากก็น้อยแน่นอนครับ

Con Mueangsak

เขียนโดย Con Mueangsak

โฟร์แมนเป็นงานประจำ เขียนบทความเกี่ยวกับช่างและงานก่อสร้างเป็นงานเสริม รักการก่อสร้างเป็นชีวิตจิตใจ สนใจติดต่องานก่อสร้างติดต่อในอีเมลได้เลยครับ ผู้เขียนเว็บไซต์ Constructacon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save